เอกสารและขั้นตอนการขอสัญชาติเยอรมัน

หรือที่เราชอบเรียกกันสั้นๆ ว่า พาสด๊อยช์
สอบถามเข้ามากันเยอะ
จนต้องหยุดเวลามาเขียนรีวิวให้เลยครับ
เริ่มเลยนะจ๊ะ!!

คุณสมบัติ(ข้อนี้สำคัญ หลายคนอาจไม่เคยทราบ รวมถึงตัวผมเอง):
1 คุณจะต้องพำนักในเยอรมนีมาแล้ว 8 ปีเต็ม +วีซ่าถาวร(Unbefristet Aufenthaltstitel)+ใบเรียนภาษา Zertifikat B1 หรือ
2 คุณจะต้องพำนักในเยอรมนีมาแล้ว 7 ปีเต็ม +วีซ่าถาวร(Unbefristet Aufenthaltstitel)+ใบเรียนภาษา Zertifikat B1 + Zertifikat Integrationskurs (ใบเรียนการเมืองการปกครองของเยอรมนี) หรือ
3 คุณจะต้องพำนักในเยอรมนีมาแล้ว 6 ปีเต็ม +วีซ่าถาวร(Unbefristet Aufenthaltstitel)+ใบเรียนภาษา Zertifikat “B2” หรือ
4 คุณจะต้องพำนักในเยอรมนีมาแล้ว 3 ปีเต็ม +วีซ่าถาวร(Unbefristet Aufenthaltstitel)+ใบเรียนภาษา Zertifikat B1 + Zertifikat Integrationskurs (ใบเรียนการเมืองการปกครองของเยอรมนี)+กรณีนี้คือ สำหรับคนที่จดทะเบียนสมรสชาย-หญิง หรือ สมรสเพศเดียวกัน ที่อยู่กินด้วยกันในเยอรมนีมาครบ 3 ปีเต็ม (ผมเองน่าจะได้คุณสมบัติข้อนี้ แต่แฟนที่จดทะเบียนเพศเดียวกัน เขาตายหลังจากแต่งงานได้เค่ 1 ปีกับ 2 เดือน ผมเลยจะต้องใช้คุณสมบัติข้อ 1 หรือ 2 หรือ 3 ตามเหตุปัจจัย
5 มีฐานะทางการเงินที่ดีพอสมควร คือ สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ หรือ มีสามีที่สามารถเลี้ยงดูเราได้ ต้องไม่อยู่ในระหว่างรับความช่วยเหลือจากทางรัฐ หรือ ตกงาน หรือ ต้องคดีอาญา

เอกสารที่ต้องใช้:

เอกสารทุกอย่าง จะต้องมีตัวจริง Original และถ่ายเอกสารไปด้วย อย่างละ 1 ใบ เจ้าหน้าที่จะขอดูตัวจริงแล้วคืนให้เรา เขาจะเอาเฉพาะใบที่เราถ่ายเอกสารไปเท่านั้น<<
1 ใบเกิดของตัวเอง ที่แปลเป็นภาษาเยอรมัน และ ตัวจริงฉบับภาษาไทย(ถึงเขาจะอ่านไม่ออก เขาก็ต้องการ เราจะต้องมีด้วย) (Geburtsurkunde)
2 ใบทะเบียนบ้าน (Meldebescheinigung)
3 ใบแสดงสถานะทางการเงินทั้งของเราและของคู่สมรส เช่น ใบเงินเดือน เป็นต้น (ข้อนี้ผมใช้ใบรับรองเงินเดือนบำนาญตกทอด ที่ผมได้รับจากแฟนที่ตายไปแล้ว เรียกว่า Rentenbescheid) ข้อนี้ อาจจะต้องมีใบเลขที่เสียภาษีด้วย(Steuer ID)
4 ใบสเตทเม้นจากธนาคารย้อนหลัง 3-6 เดือน (Kontoauszüge)
5 ใบจดทะเบียนสมรส (Lebenspartnerschaft)
6 ใบมรณะบัตรของแฟน (ใครที่แฟนยังไม่ตาย ก็ไม่มี ไม่ต้องใช้ อย่าฆ่าผัวเพื่อเอาใบนี้นะจ๊ะ Sterbeurkunde)
7 บัตรคนพิการ และ ใบรับรองแพทย์ (Schwerbehindertenausweis und Ärztliches Attest)
8 ใบแสดงสถานะการทำงาน เช่น ใบสัญญาจ้างงาน เป็นต้น ทั้งของเราและของแฟน (ใครไม่ได้ทำงาน ก็ใช้แค่ของแฟน) (Arbeitsvertrag) หรือ ใบประกอบการธุรกิจ Selbstständig แล้วแต่กรณีของคุณ
9 ใบสัญญาเช่าบ้าน หรือ ใบแสดงว่าบ้านเป็นชื่อเรา (Mietvertrag oder Grundbuch)
10 พาสปอร์ต(ไทย) และของแฟน
11 ใบสอบความรู้การเมืองการปกครอง (ต้องสอบอีก? ใช่ครับ Einbürgerungstest)
12 รูปถ่าย 1-2 นิ้ว 1 รูป Passbild
13 ใบยื่นคำร้องขอสัญชาติ Antrag
14 วุฒิการศึกษาในเยอรมนี(ถ้ามี) หรือ ต่างประเทศ หรือ จากไทย ที่แปลเป็นภาษาเยอรมันแล้ว
15 เอกสารอื่นๆ ที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับเรา แล้วแต่กรณีของแต่ละคนนะครับ เช่น ใบเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล ใบหย่า เช่นผมก็จะต้องใช้เอกสารเพิ่มเติม อาทิ เช่น ผู้ช่วยเหลือคนพิการ(Betreuer) ใบรับมรดก(Erbschein/ Testament/ Erbvertrag) เป็นต้น

เอกสารน่าจะครบแล้วแหละ ?
ต่อไปเป็นขั้นตอนการเอาเอกสารไปยื่นที่สำนักงานเขตที่เราพำนักอยู่ครับ ขั้นตอนนี้ ใครที่ยังไม่มั่นใจในเรื่องคุณสมบัติของตัวเองหรือ เอกสารที่มีอยู่ เราก็สามารถจะเอาเอกสารทั้งหมดที่เรามีอยู่ ไปขอคำปรึกษาจากทางอำเภอก่อนก็ได้นะครับ เช่น ผมไปแล้วไปอีก ไปอีกก็ไปอีก ไปจนเจ้าหน้าที่จำได้ ไปคนเดียวครับ ภาษาเยอรมันก็งูๆปลาๆ ไป จนกว่าจะได้สัญชาติ สรุปว่าไปหาเจ้าหน้าที่ 4 ครั้ง รวมกับครั้งสุดท้ายที่ไปรับสัญชาติ เป็น 5 ครั้ง ไปหาบ่อยจนเหมือนจะเป็นญาติกัน

เอกสารเราครบแล้ว ก็ไปเลยครับ เขตอื่น/เมืองอื่นอาจจะต้องทำนัดนะครับ แต่ผมอยู่ Berlin เขต Schöneberg ไม่ต้องทำนัดครับ ไปได้เลย แต่ๆๆๆ แต่จะต้องไปได้เพียงแค่ 2 วันนี้เท่านั้น คือ วันอังคาร และ วันพฤหัสบดี เวลา 09:00-12:00 น. เท่านั้นนะจ๊ะ!! เราไปก่อน 9 โมงว่าไปไวแล้ว ไปถึงยังมีคนไปนั่งรอเยอะแล้ว ก็เปิดให้แค่ 2 วันเท่านั้น! และวันละ 3 ชั่วโมง.

ผมไปครั้งแรกกลางเดือนกันยายนครับ ไปกับผู้ช่วยคนพิการ(ซึ่งผมจะต้องจ้างเอง จ่ายเงินเอง นะครับ ทุกเดือนๆ ละ 300 ยูโร ถึงเขาจะมาทำงานหรือไม่ได้ทำอะไรเลยก็จะต้องจ่ายครับ) แล้วปรากฏว่า ไม่สำเร็จครับ เพราะขาดนางเอกของงาน นั่นก็คือ ใบ “Zertifikat Integrationskurs” (ใบเรียนภาษาB1+สอบการเมืองการปกครอง ต้องเรียนและสอบผ่านทั้งสองอย่างถึงจะได้ใบนี้มา)

ผมใช้คุณสมบัติข้อ 2 นะครับ คือ 7 ปีเต็ม (มาอยู่เยอรมนีตั้งแต่ 9 สิงหาคม 2011) ความจริงถ้าผมรู้คุณสมบัติข้อ 3 คือ 6 ปี+ B2 ผมก็คงจะสอบ B2 ให้ผ่านไว้ตั้งแต่ 2-3 ปีแรกที่มาอยู่เยอรมนีแล้วครับ ผมเคยเรียนภาษาเยอรมัน ถึง B2-C1 มาแล้ว แต่ไม่ได้สอบ เพราะไม่คิดว่าจะได้ใช้ ตอนนั้นคิดว่าเรียนแค่อยากรู้เฉยๆ ว่ามันจะยากขนาดไหน

วกกลับมาหานางเอกของเรื่องเราครับคือ Zertifikat Integrationskurs ผมเคยเรียนภาษาเยอรมันและสอบผ่าน ทั้ง B1 และ Integrationskurs ไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2012 แต่ประเด็นคือ … ผมได้รับแค่ Zertifikat B1 แต่ไม่เคยได้รับ Zertifikat Integrationskurs เลย จนจะขอสัญชาติเยอรมัน จึงได้รู้ว่า มันสำคัญไฉน??? งานนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้ช่วยเหลือคนพิการที่จะต้องไปติดต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อจะต้องให้ได้มาซึ่งใบ Integrationskurs นี้!! หากแต่ว่า ผมก็เคืองการทำงานของผู้ช่วยมานานแล้ว เราจ่ายเงินเดือนอันไม่น้อย แต่แทบจะไม่ได้ทำงานให้เราเลย นาทีนี้ผมเลยตัดสินใจ เขียนจดหมายไปบอก Betreuungsgericht ว่า ผมขอยกเลิก Betreuer เป็นการถาวร ต่อจากนี้ไปเราจะไม่มีพระเอกแล้วนะครับ พระเอกถูกยกเลิกไปแล้ว

และผมก็ติดต่อไปยังโรงเรียนที่เคยเรียนสอนภาษาให้เขาออกใบรับรองให้ว่า ผมเคยเรียน Integrationskurs มาแล้วจริงๆ ทางโรงเรียนก็ออกใบรับรองให้

ผมไปที่สำนักงานเขตเป็นครั้งที่ 2 ในสัปดาห์ถัดมา คือไปคนเดียวครับทีนี้ เพราะไม่มีผู้ช่วยแล้ว แต่เขาบอกว่า ต้องใช้ใบยกเลิกผู้ช่วยเหลือ(Aufhebung der Betreuung von Amtsgericht) และก็เรื่องนางเอก เขาบอกว่า แค่ใบรับรองอันนี้ ไม่เพียงพอ ! เพราะมันไม่ได้ระบุว่า คุณได้สอบผ่าน Integrationskurs !! (โอ้ย อยากจะร้องไห้ต่อหน้าเขาเลย แต่ก็คงไม่มีผลดีอะไร ออกมานั่งร้องไห้คนเดียวในร้านกาแฟดีกว่า)

สัปดาห์ถัดมาอีก ไปอีก เป็นครั้งที่ 3 เพราะได้ใบแจ้งยกเลิกพระเอก จากศาล Betreuungsgericht มาแล้ว และถามเขาอีกว่า ฉันมี B1 ใบรับรองIntegrationskurs จากโรงเรียน และใบสอบผ่าน Einbürgerungstest แล้ว ก็น่าจะใช้แทนกันได้ ไม่ใช่รึ เพราะ ทั้ง Integrationskurs และ Einbürgerungstest ก็ใช้ข้อสอบอันเดียวกัน เขาก็บอกว่า ไม่ได้ๆๆๆๆ!!! ฉันต้องการใบ Zertifikat Integrationskurs ที่ระบุด้วยว่า คุณสอบผ่าน เท่านั้น!!
(โอ้ย อยากจะร้องไห้ต่อหน้าเขาเลย แต่ก็คงไม่มีผลดีอะไร ออกมานั่งร้องไห้คนเดียวที่โรงแรมฮิลตันดีกว่า ไม่ใช่ไรหรอก ไปแอบดูประยุทธ์มาเบอร์ลิน วันนั้นพอดี)

ก็เลยกลับมา แล้วให้คุณอีริก(เพื่อน)โทรไปถาม BAMF ที่เขาออกใบประกาศนียบัตรเกี่ยวกับการสอบ แล้วก็ส่งอีเมล์พร้อมแนบหลักฐานเอกสารยืนยันว่าเราเคยเรียนและสอบผ่าน Integrationskurs แล้วจริงๆ นะ ผ่านไป 1 สัปดาห์ก็ได้รับใบนางเอกของเรา โอ้วโห ดีใจมาก!!

สัปดาห์ถัดมาก็ไปที่สำนักงานเขตอีก เป็นครั้งที่ 4 ในวันอังคาร ที่ 27 พฤศจิกายน 2018 โดยทั้ง 4 ครั้งนี้ก็เป็นเจ้าหน้าที่คนเดียวตลอดคือ เฟรามิททาก ห้อง 133 คราวนี้ เอกสารครบๆๆๆ ยิ่งกว่า ครบ ไม่ครบถ้วนครานี้ก็ไม่รู้จะไปครบตอนไหนแล้วละ

ยื่นเอกสาร จ่ายค่าธรรมเนียม(Verwaltungsgebühr) 255 ยูโร และ สอบสัมภาษณ์นิดนึงว่า ทำไมคุณถึงอยากได้สัญชาติเยอรมัน สำคัญอย่างไรกับคุณ? ตอบไปสวยๆ ว่า “ฉันเชื่อ มันสำคัญมาก เพราะมันจะช่วยให้การใช้ชีวิตในเยอรมนีของฉันนั้น ง่ายขึ้น และ เป็นความตั้งใจของแฟนที่ตายไปแล้ว เราทั้งสองเห็นพ้องต้องกันต้องการให้ฉันได้สัญชาติเยอรมันด้วย การตายของเขานั้นไม่อาจพรากความมุ่งมั่นตั้งใจของฉันไปได้เลย”

หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็จะเปิดตู้จดหมายทุกวัน ด้วยความหวังว่า จะพบจดหมายแจ้งมาให้ไปรับสัญชาติเยอรมันเหมือนคนอื่นบ้าง

จวบจนวันพุธ ที่ 27 มีนาคม 2019 เป็นเวลา 4 เดือนเต็ม ตรง เป๊ะ! ก็ได้รับจดหมายให้ไปรับสัญชาติได้!! ตื่นเต้นมาก นอนหลับเป็นตายเลย เพราะเหนื่อยจากทริปมิวนิค

บ่ายวัน พฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม 2019 ก็ออกไปรับเอกสาร ไปเซ็นรับการได้สัญชาติเยอรมันโดยสมบูรณ์ พร้อมกับการที่เราจะต้องคืนบัตรวีซ่าถาวรให้เขา 16:15 น. ในระหว่างรอคิวก็ไม่รอช้า ทำนัดเพื่อไปขอทำพาสปอร์ตและบัตรประจำตัวประชาชนในฐานะพลเมืองเยอรมันเลย ได้นัดที่ Bürgeramt Friedrichschain Berlin Kreuzberg ได้นัดเวลา 17:23 น. ก็ตรงดิ่งไปเลย ค่าทำพาสปอร์ต €60 รอประมาณ 4 สัปดาห์ก็จะได้รับพาส แต่ผมขอทำแบบ Express ได้ภายใน 4วันทำการ จ่ายเพิ่ม €32 ครับ ได้รับไว ส่วนค่าทำบัตรประจำตัวประชาชนเยอรมัน €28 ครับ

เช้าวันที่ 2 เมษายนก็ได้รับอีเมล์ว่า ให้ไปรับพาสปอร์ตได้ ตอนบ่าย 4 โมงเย็น ก็แค่ขึ้นลงรถไฟไปรับสวยๆตอนไปรับพาสไม่ต้องทำนัดนะครับ ไปได้เลย เขาจะมีห้อง Dokument Ausgabe ให้เราไปถามที่เคาน์เตอร์ต้อนรับที่อยู่ข้างหน้าได้เลยครับว่า จะมารับพาสปอร์ต ต้องไปที่ห้องไหน

จะเห็นได้ว่า ในกรณีของผมนั้น ดูเหมือนจะยุ่งยากกว่าคนอื่นๆ เพราะผมเป็นคนพิการด้วย และแฟนก็ไม่มี แฟนตายด้วย ไม่มีใครช่วยเตรียม ตรวจสอบเอกสารให้เลย ผมจะต้องทำเองหมดทุกอย่าง ทุกขั้นตอน ทำคนเดียว … ใครที่ยังมีแฟนช่วยก็ดีหน่อย ไปขอได้เลยครับ เป็นสิทธิ์ของเรา ส่วนข้อดีข้อเสียของการได้รับสัญชาติเยอรมันนั้น ผมมองไม่เห็นข้อเสียเลยครับ เพราะเราไม่ได้สละสัญชาติไทย เรายังเก็บสัญชาติไทยไว้ได้เหมือนเดิม เป็นคนไทยเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ ได้เป็นคนเยอรมันที่มีสิทธิ์เสรีภาพเท่าคนเยอรมันทุกประการ และข้อดี คือ ท่องเที่ยวได้ทั่วโลก(ตามกฎหมายกำหนด) แบบไม่ต้องขอวีซ่า

ผมเป็นคนพิการ(ขอโอกาสแนะนำนิดนึงครับ สำหรับกัลยาณมิตรที่ยังไม่เคยเห็นผมก็จะไม่รู้ว่าผมพิการอะไร) คือ ผมพูดไม่ได้ และเดินไม่ค่อยแข็งแรง เคลื่อนไหวไม่สะดวกเหมือนคนปกติ เวลาสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ ผมก็จะพิมพ์ในโทรศัพท์หรือไอแพ็ต แทนการพูดทั้งหมดครับ ก็มีความลำบากพอสมควรครับ แต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ความเพียรพยายามเป็นที่ตั้งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายครับ

** เหตุที่ทางการจะสามารถยึดคืนสัญชาติ/เราจะต้องสละสัญชาติเยอรมันนั้น มี 2เหตุหลักๆ (ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับ) คือ
1 ถ้าเราจะไปขอสัญชาติอื่นใดในยุโรปและสวิสฯ อีก
2 ถ้าเราทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

เป็นเพื่อนกัลยาณมิตร ที่ดีกันได้ คุยกันได้ที่เฟสบุ๊ค Sappasit Jitjan อยากว่าด่าอะไรก็ยิงตรงมาได้เลยครับ ยินดีรับฟังเสมอครับ จะได้ปรับปรุงแก้ไข สำรวมระวังในกาลต่อไปครับ หรือจะเอาไปนินทาในวงเสวนาที่ไหนก็ได้ ตามสะดวกเลยครับ

ขอบคุณมากๆ ครับที่อุตส่าห์อ่านมาจนจบ ผมก็ขอจบการรีวิวไว้เพียงเท่านี้นะครับ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยตามเหตุปัจจัย ผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใด ก็กราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

กว่าฉันจะได้วีซ่ามาเยอรมันครั้งแรกนั้นยากเย็นแสนเข็นเลือดตาแทบกระเด็นแล้วจะให้ฉันกลับไทยไปง่ายๆรึไม่มีทางเป้าหมายคือจะต้องได้พาสด๊อยช์แล้วอยู่ให้รกประเทศเยอรมนีต่อไปตามเหตุปัจจัยจ้า

Ich bin ein Berliner! ?❤️?
Ich bin Deutscher mit thailändischen Wurzeln. ?????
สรรพสิทธิ์ จิตรจันทร์(ออย) ณ กรุงเบอร์ลิน 03.04.2019